ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ม.อ. ปั้นหลักสูตรอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า มุ่งมั่นพัฒนากำลังคน รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ




มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำโดย ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี และ รศ. ดร.ณัฎฐา จินดาเพ็ชร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับ บริษัท โตโยต้า ทูโช เน็กซ์ตี อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด (NETH) พร้อมด้วย บริษัท โตโยต้า ทูโช เด็นโซ่ อิเล็คทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (TDET) ได้มีการลงนามความร่วมมือ ผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ “อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะสําหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา เพื่อมุ่งหวังให้ได้กำลังคนที่มีสมรรถนะ มีความรู้ความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเอง การวิเคราะห์ และประยุกต์ได้อย่างเชี่ยวชาญ ให้แก่บุคลากร นักศึกษา และผู้สนใจเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่




รศ. ดร.ณัฎฐา จินดาเพ็ชร์ กล่าวว่า การปลุกปั้นหลักสูตรอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ถือเป็นนโยบายของประเทศไทย ที่จะขับเคลื่อนผลิตยานยนต์ไฟฟ้า หรือยานยนต์ที่เป็นไฮบริดจ์ ให้ได้ราว 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2036 และไทยถือเป็นฐานผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ของโลก ดังนั้น การจะสร้างกำลังคนในด้านนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเหตุผลที่ทาง บริษัท NETH และ TDET เลือกสนับสนุนและลงนามความร่วมมือกับ ม.อ. เพราะเรามีความเชี่ยวชาญทั้งในด้านทฤษฎี รวมถึงขั้นปฏิบัติที่ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเราสามารถทำได้จริง




“จริง ๆ แล้วยานยนต์ไฟฟ้ามีรายละเอียดเรื่องของความเซฟตี้ด้วย ไม่ใช่แค่นำมอเตอร์มาแทนที่เครื่องยนต์สันดาป คือถ้าเราคอนโทรลพลาดนิดเดียว มันคือระเบิดดี ๆ นี่เอง ฉะนั้น การเอาหลักการทางโมเดลเบสดีไซน์ (MBD: Model-Based Design) หรือการออกแบบเชิงอิงแบบจำลองมาใช้ จะทำให้รู้ว่าคณิตศาสตร์ของแบตเตอรี่นั้นคืออะไร คณิตศาสตร์ของอินเวอร์เตอร์นั้นคืออะไร ซึ่งเราก็สามารถที่จะโมเดลระบบขึ้นมา แล้วจำลองสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ความร้อนขั้นสุดที่เกิดขึ้น หรือความเย็นขั้นสุดที่เกิดขึ้น ในสถานการณ์โอกาสที่รถจะขับเคลื่อนไปได้ มันจะรองรับเสถียรภาพของรถ เพราะฉะนั้น หลักสูตรของเราจะเน้นไปที่การสร้างโมเดลและหาจุดอ่อน พร้อมกับทดสอบทุกกระบวนการให้เห็นว่ารถคันนี้ปลอดภัย” รศ. ดร.ณัฎฐา จินดาเพ็ชร์ กล่าว



นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่า ประเทศไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ ปัจจุบันกำลังคนที่มี Skill ขั้นสูงในด้านนี้มีจำนวนน้อย ซึ่งสวนทางกับความต้องการที่มีกำลังสูงมากในภาคอุตสาหกรรม จึงอยากเชิญชวนให้มาเรียนหลักสูตรอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กันเยอะ ๆ เราคาดหวังว่านักศึกษาที่จบจากที่นี่จะมีพื้นฐาน และสามารถไปทำงานสายตรงทางด้านรถยนต์ไฟฟ้า หรือทำงานในลักษณะที่ใกล้เคียงกันได้มากยิ่งขึ้น เพื่อจะได้ช่วยกันพัฒนากำลังคน พัฒนาประเทศชาติ รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้นี้